
Agile คืออะไร ทำไมจึงกลายเป็นรูปแบบการทำงานที่นิยมในปัจจุบัน

หลายคนน่าจะเคยเจอกับปัญหางานเยอะ งานล้น แล้วอยากจะได้คนมาเพิ่มใจจะขาด แต่การเติมคนเพิ่มเข้ามาในทีมนั้น มีค่าใช้จ่ายมหาศาลที่องค์กรต้องรับผิดชอบ
จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถจัดการกับงานจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยจำนวนคนเท่าเดิม แล้วยังเปิดโอกาสให้มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อนำมาต่อยอดในองค์กรได้อีกด้วย วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ Agile วิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการงานแบบใหม่ ที่จะช่วยให้องค์กรคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Agile คืออะไร?

Agile หรือ‘อา-ไจล์’ แปลว่า คล่องตัว หรือคล่องแคล่ว ในที่นี้หมายถึง แนวคิดในการทำงานที่ให้ความสำคัญในเรื่อง คน การสื่อสาร และ แนวทางที่จะนำไปใช้พัฒนาสินค้าและบริการขององค์กรให้ได้ เพื่อให้สินค้าและบริการเหล่านั้นสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานรวมถึงผู้บริโภคอยู่เสมอ
แนวคิดและหลักการของ Agile มาจากการรวมกันของหลายแนวคิดและกระบวนการที่พัฒนามาตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 ได้รับการส่งเสริมโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในวงการซอฟต์แวร์และนักพัฒนาองค์กรต่าง ๆ
แนวคิด Agile มาจากสองแนวคิดหลักที่สำคัญ คือ "วงจรการพัฒนา" (Software Development Life Cycle: SDLC) และ "หลักการทำงานแบบทีมเชิงสร้างสรรค์" (Collaborative and Creative Team-Based Work Principles) ซึ่งองค์กรและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ได้นำแนวคิดและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์มาปรับใช้และเรียนรู้ข้อผิดพลาด พัฒนาต่อยอดจนได้เป็นแนวคิด Agile
โดยทั่วไปองค์กรส่วนใหญ่มักจะทำงานด้วยระบบจัดการที่มีชื่อเรียกว่า Project Management โดยมี Project Manager หรือ PM เป็นผู้จัดการโครงการและมีทีมมานั่งวางแผนร่วมกันก่อนที่จะเริ่มโครงการ ดูทั้งเรื่องงบประมาณโครงการ ระยะเวลา กำลังคน และองค์ประกอบอื่น ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบโครงการ ที่มักจะใช้รูปแบบการทำงานแบบมีขั้นตอน ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องให้ผ่านไปทีละขั้น แต่แนวคิด Agile นั้นมีรูปแบบการทำงานที่ต่างออกไป
กล่าวคือ อไจล์เป็นกระบวนการที่ช่วยลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านการทำเอกสารลง มุ่งเน้นในเรื่องการสื่อสารของทีมมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ได้รวดเร็วขึ้น แล้วจึงนำสิ่งที่ได้ไปให้ผู้ใช้กลุ่มตัวอย่างทดสอบใช้งานจริง จากนั้นจึงรวมผลทดสอบมาประเมินดูอีกครั้ง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงสินค้าและบริการนั้น ๆ ให้ดีขึ้นทีละนิด ด้วยแนวทางนี้จะทำให้องค์กรสามารถพัฒนาสินค้าและบริการได้อย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้นอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง
แนวคิดพื้นฐานของ Agile

แนวคิดการทำงานพื้นฐานของ Agile นั้นเน้นไปที่การสื่อสาร และการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความซับซ้อน และโอกาสการเสียเวลาโดยใช่เหตุ โดยมีหลักการสำคัญดังนี้
- Cross-functional team คือการนำคนที่มาจากหลายสายงานที่มักมีความต่างกัน มาทำงานร่วมกันอยู่ในทีมเดียวกัน สิ่งนี้จะส่งผลให้ทีมสามารถทำความเข้าใจกับรายละเอียดของงานได้ง่ายขึ้นแล้วยังส่งผลถึงเรื่องการประสานงานกับส่วนงานต่าง ๆ ที่มีความคล่องตัวมากขึ้น
- Sprint คือ การแบ่งเฟสงานให้เป็นโครงการเล็ก ๆ กำหนดเป้าหมายที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ และต้องส่งมอบผลงานเป็นโครงการเล็ก ๆ เมื่อประเมินผลแล้วว่าอยู่ในทิศทางที่ดีจึงค่อยต่อยอดทำเพิ่มไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากพบข้อผิดพลาดหรือจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงใด ก็จะปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสมในแต่ละรอบไป
- ทีมมีอำนาจในการในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางของโครงการ ส่วนใหญ่คนที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานใน Agile squad จะได้รับอำนาจในการตัดสินใจที่มากพอเพื่อไม่ให้โครงการต้องผ่านกระบวนการการขออนุมัติขององค์กรที่มักจะใช้เวลานาน
- Dedicated resources คือ ใช้บุคลากรที่ทำงานเพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ มีการแต่งตั้งคนที่รับผิดชอบงานในแต่ละส่วน เพื่อโฟกัสใน Scope of work ของโครงการที่ได้รับมอบหมายมา
- ทุกคนสามารถรับรู้สถานะของโครงการได้อย่างชัดเจน สื่อสารและรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นของโครงการร่วมกัน รวมทั้งรายงานความคืบหน้าของโครงการให้ทั้งทีมได้รู้ เพื่อทำให้เกิดความชัดเจนและการวัดผลได้
- เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ เรียนรู้ข้อผิดพลาดและข้อดีได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากการทำงานเป็นรอบเล็ก ๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ข้อผิดพลาดที่พบจากครั้งก่อน ๆ และสามารถหาข้อบกพร่องตลอดจนข้อดีในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อเข้าใจหลักการและมีการนำมาใช้อย่างเป็นระบบ จะต้องมีความเข้าใจต่อยอด ในส่วนของปัจจัยซึ่งมีผลให้ Agile ตั้งมั่น และสร้างผลสำเร็จให้กับองค์กร โดยปัจจัยที่ต้องทำความเข้าใจนั้น มีดังนี้
ปัจจัยที่จะทำให้ Agile ประสบความสำเร็จในองค์กรของคุณ
ลูกค้าคือหัวใจ
ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้า และมีโอกาสสร้างยอดขายที่ดีให้กับองค์กร จะต้องเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า และยึด Insight เหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสินค้าและบริการ เราสามารถนำเครื่องมือของ Agile อย่าง Scrum เข้ามาใช้ได้ ซึ่งเป็นกระบวนการแชร์ Insight ของลูกค้าให้ทีมรับรู้และพัฒนาต่อยอดจนได้เป็นสินค้าและบริการที่ดีที่สุด เพื่อส่งต่อให้ลูกค้าได้
เชื่อมโยงกับกลยุทธ์บริษัท
การมีระบบการทำงานแบบ Agile ที่มีประสิทธิภาพสูงนั้นยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวหน้าขึ้นได้ หากแต่งานที่พวกเขาทำต้องสอดคล้องกับกลยุทธ์และวัตถุประสงค์ทางธุรกิจขององค์กรด้วย
บ่อยครั้งที่องค์กรจัดให้มีการทำ Agile Ceremonies เช่น การรายงานความคืบหน้าประจำวัน (Daily Stand-up) แต่คนในทีมกลับไม่เข้าใจว่างานของพวกเขาส่งผลอย่างไรต่อภาพใหญ่ขององค์กร และแผนงานใหญ่ จึงควรมีการจัดอบรมเพื่ออธิบาย “ภาพใหญ่” ให้คนทำงานเข้าใจด้วย รวมถึงทำลายกำแพงระหว่างทีม Business และทีม IT ซึ่งเป็นสองทีมสำคัญซึ่งมีผลกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้วยการจัดให้มีการแลกเปลี่ยน Feedback กันอย่างสม่ำเสมอ
คนทำงานต้องพัฒนาขึ้นทุกวัน
แม้แต่องค์กรที่เน้น Customer Centric ก็ยังทำให้การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ดำเนินไปตามแนวคิด Agile ได้ยาก ปัญหามักเกิดจากการจัดการคนทำงาน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้บริษัทที่มีประสิทธิภาพสูงเลือกวิธีการใช้ Metrics วัดทักษะ และกำหนดบทบาทในทีมให้ชัดเจน นอกจากนี้ดึงดูดคนทำงานเก่งและเพิ่มอัตราการรักษาพนักงานผ่านการโค้ชงาน และให้ความก้าวหน้าในอาชีพ ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรที่ทำ Agile ควรเลือกพนักงานที่ทำงานโดดเด่นให้ขึ้นเป็นผู้นำ
วัดประสิทธิภาพการทำงานอย่างครอบคลุม
องค์กรที่ทำ Agile อาจจะเกิดคำถามว่าการทำ Agile ของเราประสิทธิภาพหรือยัง?
ลองใช้ Metrics วัดผล 3 รูปแบบดังต่อไปนี้ดู
- วัดความคืบหน้าการเปลี่ยนแปลง
- จำนวนพนักงานที่ได้รับการฝึกอบรมและผ่านการรับรอง
- จำนวน Business Unit ที่ได้ลงมือทำงานแบบ Agile แล้ว
- วัดการดำเนินงานจริง
- เมื่อทีมเริ่มทำงานแบบ Agile แล้ว ให้ลองวัดอัตราเกิดข้อบกพร่อง
- รอบเวลาการทำงาน ความเร็ว และความผันผวนต่าง ๆ
- วัดมูลค่าธุรกิจ
- หลังจากเปิดตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ถึงเวลาวัดผลกระทบต่อธุรกิจ อาทิ ค่าใช้จ่าย รายได้ เป็นต้น
การสนับสนุนจากผู้บริหาร
เหล่าทีมบริหารองค์กรระดับสูง (C-Level) ต้องช่วยสนับสนุนการทำงานของทีมที่รับทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนองค์กร ให้มีอำนาจสามารถเข้าไปแทรกแซงการทำงานของทุกทีมได้ ไม่ใช่แค่ทีม Business หรือ IT แต่รวมถึงฝ่ายสนับสนุนอย่าง HR และ Finance เพื่อให้ทีมสามารถช่วยสร้าง Playbook รวบรวมข้อมูล จัดโค้ชชิ่ง และนำเครื่องมือมาช่วยให้การทำงานแบบ Agile สะดวกมากยิ่งขึ้น
เข้าใจ Agile Manifesto เข้าใจ Agile

Agile Manifesto คือค่านิยม 4 ประการและหลักการ 12 ข้อ สำหรับการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบ Agile ที่ถูกเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 17 รายที่ต้องการทางเลือกอื่นนอกเหนือจากกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงเส้นตรง ที่ปัจจุบันถูกยึดเป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดการทำงานแบบ Agile จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน
ค่านิยมของ Agile
- Individuals and Interactions over Processes and Tools เน้นความสำคัญของคนทำงานในทีมและการสื่อสารระหว่างบุคคลเป็นเรื่องสำคัญกว่ากระบวนการและเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน การสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในทีมจะช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
- Working Software over Comprehensive Documentation Agile ให้ความสำคัญกับการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ มากกว่าการสร้างเอกสารที่ครอบคลุมที่อาจไม่สามารถสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับลูกค้าได้
- Customer Collaboration over Contract Negotiation สนับสนุนการสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยการตรวจสอบและปรับปรุงโครงการผลิตซอฟต์แวร์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยตรง และสร้างคุณค่าสูงสุดให้กับลูกค้าผ่านการทำงานร่วมกัน
- Responding to Change over Following a Plan ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งธรรมชาติและอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและการปรับปรุงให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการขององค์กรสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญกว่าการปฏิบัติตามแผนที่ถูกกำหนดไว้
หลักการ 12 ข้อที่ใช้ในวิธีการทำงานแบบ Agile
- สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าอยู่เสมอ (Satisfy the Customer) หลักการที่สำคัญสูงสุด คือ ลูกค้าจะต้องพึงพอใจกับการส่งมอบงาน ตั้งแต่ต้นอย่างต่อเนื่อง
- เปิดรับความเปลี่ยนแปลง (Welcome change) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กระบวนการทำงานแบบ Agile สามารถแปรเอาความเปลี่ยนแปลง มาเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันได้เสมอ
- ส่งมอบงานที่ดีบ่อย ๆ ลดความเสี่ยงได้ (Deliver Frequently) ส่งมอบงานที่ใช้งานได้จริงอย่างสม่ำเสมอ โดยควรทำให้ระยะเวลาระหว่างการส่งมอบนั้นสั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
- ทำงานร่วมกัน (Work Together) ตัวแทนจากทุก ๆ ฝ่ายควรทำงานร่วมกันเป็นประจำ เช่น ฝ่ายขายควรทำงานร่วมกันและประสานงานกับฝ่ายวางแผนและการผลิตอย่างสม่ำเสมอเพื่อวางแผนการขายและการผลิตร่วมกัน
- สนับสนุนซึ่งกันและกัน (Trust & Support) ทำให้แน่ใจว่าทีมทำงานเข้าใจและมีจุดมุ่งหมายของโครงการร่วมกัน สร้างสภาวะแวดล้อมและให้การสนับสนุนในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
- คุยกันแบบเจอหน้า (Face to Face Conversation) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการสื่อสารและถ่ายทอดข้อมูล
- ความคืบหน้าวัดผลจากงานที่ใช้ได้จริง (Working software) ซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้จริงเป็นตัวหลักในการวัดความก้าวหน้าของโครงการ
- พัฒนาอย่างคงที่ (Sustainable Development) กระบวนการ Agile สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน นั่นคือทุกฝ่ายทำงานควรจะสามารถรักษาอัตราเร็วในการทำงานร่วมกันให้คงที่ได้ตลอดไป
- ทำดีต่อเนื่อง (Continuous Attention) การใส่ใจในความเป็นเลิศทางเทคนิคและงานออกแบบที่ดีอย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มความเป็น Agile
- ทำสิ่งที่สำคัญและกล้าละสิ่งที่ไม่สำคัญ (Maintain Simplicity) – ความเรียบง่าย ทำสิ่งที่สำคัญและรู้จักปฏิเสธสิ่งที่ไม่สำคัญในการทำงานนั้นสำคัญยิ่ง
- ให้อำนาจในการตัดสินกับทีมงาน (Self-Organizing Teams) – ความต้องการของลูกค้า งานที่ออกมาดีที่สุด เกิดจากทีมที่บริหารจัดการตัวเองได้
- ร่วมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นต่อเนื่อง (Reflect & Adjust) – ทุกช่วงเวลาหนึ่งเป็นประจำ ทีมจะต้องย้อนกลับไปตรองดูสิ่งที่ผ่านมาเพื่อหาทางที่จะพัฒนาความมีประสิทธิผลของทีม แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทีม
ทำไม Agile จึง Work กับการทำงานยุคใหม่

หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า ทำไมองค์กรยุคใหม่ ถึงหันหน้ามาพึ่งพากระบวนการทำงานแบบ Agile มากขึ้น และนี่คือส่วนหนึ่งของคำตอบ
- ความต้องการการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัว: ในยุคที่สภาพแวดล้อมธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรต้องการที่จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาด แนวคิด Agile เข้ามาช่วยให้องค์กรสามารถทำงานและปรับแก้ไขได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง
- การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ: Agile เน้นการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปรับปรุงตลอดเวลา การใช้ Agile ช่วยให้องค์กรสามารถตรวจสอบและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้ในทุก ๆ รอบของการพัฒนา ซึ่งช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและเพิ่มความไวต่อการเปลี่ยนแปลง
- การสร้างทีมที่มีผู้ร่วมมือและมีความรับผิดชอบสูง: Agile ส่งเสริมการทำงานเป็นทีมและการสื่อสารระหว่างสมาชิกในทีม ทีม Agile ทำงานร่วมกัน โดยการแบ่งงานเป็นส่วนย่อย ๆ และมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในทีม
- การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า: Agile ช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยการใช้หลักการ Agile องค์กรสามารถปรับแปลงและปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงได้ ผ่านการส่งมอบซอฟต์แวร์ที่ให้คุณค่าแก่ลูกค้าในระยะเวลาที่สั้น
- การวางแผนและการควบคุมที่รวดเร็ว: Agile ช่วยให้องค์กรมีการวางแผนและการควบคุมโครงการได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการทำงานแบบ Sprint ที่ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ในการทำงาน มีการปรับแผนและตัดสินใจภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งองค์กรสามารถทำการปรับปรุงและแก้ไขแผนการทำงานในแต่ละ Sprint ได้
- การลดความเสี่ยง: Agile ช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้วยระบบการตรวจสอบตัวเอง การทดลองใช้ในกลุ่มตัวอย่าง และ AB Testing ซึ่งองค์กรสามารถรับข้อเสนอและคำแนะนำจากลูกค้าได้ตลอดระหว่างกระบวนการพัฒนา และปรับแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิดปัญหาใหญ่
- ความมั่นคงของทีม: การทำงานแบบ Agile ส่งเสริมความมั่นคงของทีม โดยให้สมาชิกในทีมมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย และสนับสนุนการทำงานร่วมกัน
Agile Team Up : ทำงานเป็นทีมแบบ Agile

เมื่อเข้าใจ Agile แล้ว วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับการสร้างทีมแบบ Agile ที่จะทำให้งานมหาศาลเสร็จได้ แม้มีคนทำงานเท่าเดิม หลักสำคัญของการทำงานร่วมกันแบบ Agile นั้นพัฒนามาจากการมีปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารกันภายในทีม วิธีการแบบ Agile จะส่งเสริมให้มีการประชุมเพื่อพูดคุยกันเป็นเวลา 15 นาทีทุกวัน หรือที่เรียกว่า 'Scrum'
โดยการประชุมนี้ ทำเพื่อวางแผน ตรวจสอบ และประเมินผล Sprint นั้น และเจาะลึกไปที่ส่วนต่าง ๆ ของโครงการมากยิ่งขึ้น โดยที่กลุ่มย่อยแต่ละกลุ่มก็จะโฟกัสไปที่งานของตน อีกทั้งทีมต่าง ๆ ยังขอคำปรึกษาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายสำคัญเป็นประจำเพื่อให้มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะดำเนินการตามลำดับความสำคัญทางธุรกิจ
เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกันมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ทีมต่าง ๆ ทำงานร่วมกันได้ โดยเครื่องมือเหล่านั้นประกอบด้วย
- แดชบอร์ดสำหรับทำงานร่วมกันเพื่อติดตามงานและให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานย่อย ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ในภาพรวม
- เครื่องมือการสื่อสารที่เชื่อมต่อสมาชิกในทีมแต่ละคน ซึ่งรวมถึงพนักงานในออฟฟิศและคนทำงานหน้างานเข้าด้วยกันไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดบนโลกนี้ก็ตาม โดยเครื่องมือชิ้นนี้จะยิ่งทวีความสำคัญเมื่อองค์กรทำงานแบบไฮบริด ทั้งยังหมายความว่าทีมต่าง ๆ สามารถทำงานได้จากทั่วโลกโดยมีอุปสรรคน้อยลงอีกด้วย
มองหาเครื่องมือสื่อสารที่จะทำให้ทีมของคุณทำงานได้ทุกมุมโลก คลิกเลย
- เครื่องมือแชร์ไฟล์เพื่อให้สมาชิกในทีมทุกคนสามารถเข้าถึงเอกสารที่จำเป็นได้
- เครื่องมือผสานการทำงานเพื่อรวมซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันทั้งหมดเข้าด้วยกัน ทำให้ไม่เสียเวลาในการสลับใช้งานไปมา
- เครื่องมือติดตามความคืบหน้าเพื่อช่วยให้ผู้จัดการโปรเจ็กต์สามารถวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้ทีมต่าง ๆ ดำเนินงานได้ตามกำหนดการด้วยการติดตามความคืบหน้าแบบเรียลไทม์
นอกจากนั้นยังต้องทำความรู้จัก Framework การทำงานร่วมกันแบบ Agile ซึ่งเรารวบรวม 3 Framework ที่สำคัญมาให้ ดังนี้
1. Scrum
Scrum เป็นวิธีการทำงานแบบ Agile อย่างหนึ่ง สำหรับทีมขนาดเล็กเพื่อหาทางออกให้กับทุกปัญหาที่ทีมเจอ ในการ Scrum จะนำโดย Scrum Master ซึ่งมีหน้าที่หลักในการขจัดอุปสรรคทั้งหมดสำหรับคนอื่น ๆ ที่ทำงานในแต่ละวัน ทีม Scrum พบกันทุกวันเพื่อหารือเกี่ยวกับงานที่กำลังดำเนินอยู่ ปัญหาที่ทีมเจอ และสิ่งอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทีมพัฒนา ซึ่งจะมีการรวบรวม และส่งต่อวิธีการเพื่อนำไปใช้กับทุกทีมในระบบงาน
2. Kanban
Kanban คัมบัง หรือ แคนบาน เป็นคำในภาษาญี่ปุ่น ที่สามารถแปลตรง ๆ ได้ว่า กระดาษเขียนข้อความ หรือเครื่องหมายต่าง ๆ ที่สามารถสื่อข้อความถึงผู้อื่นได้ Kanban มีประโยชน์กับทีมในแง่ที่ชี้ให้เห็นภาพรวม และสถานะงานแต่ละชิ้นของโครงการ ว่าอยู่ไหน ใครกำลังรับผิดชอบ วิธีคิดการทำงานที่ออกมาเป็นรูปธรรมแบบนี้ จะทำให้การเป็นทีมมีความทับซ้อนน้อยลง และทำให้งานดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว
3. Adaptive Project Framework (APF)
เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าปัจจัยที่ไม่รู้จัก หรืออุปสรรคที่คาดไม่ถึง สามารถปรากฏขึ้นได้ตลอดเวลาในระหว่างโครงการ เทคนิคนี้ใช้เป็นหลักสำหรับโครงการด้านไอทีที่ไม่ได้ใช้เทคนิคการจัดการโครงการแบบดั้งเดิม
กรอบการทำงานนี้ขึ้นอยู่กับแนวคิดที่ว่าทรัพยากรของโครงการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น งบประมาณสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ไทม์ไลน์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือสมาชิกในทีมที่ทำงานในโครงการอาจเปลี่ยนไปใช้ทีมอื่น แนวคิดนี้จึงมุ่งเน้นไปที่ทรัพยากรที่โครงการมี แทนที่จะเป็นทรัพยากรที่โครงการต้องการ
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีมแบบ Agile คลิก
วิธีคิดและเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้การทำงานเป็นทีมนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด และการจัดการโครงการแบบ Agile เดินหน้าได้อย่างเป็นระบบ ส่งมอบงานถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว
สรุป
ไม่ว่างานจะล้นมือแค่ไหน การจัดการงานให้เป็นระบบ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ตอบสนองวัตถุประสงค์ของบริษัทได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ Agile เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยให้การทำงานขององค์กรที่งานกำลังล้น เป็นระบบได้ มีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ มีคุณค่าต่อองค์กรอีกด้วย
สำหรับผู้ที่มองหาตัวช่วยในการทำงาน MANAWORK เป็นหนึ่งในระบบที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในจัดการโดยระบบมีตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย วางแผนการทำงาน ไปจนถึงติดตามการทำงาน ช่วยให้ผู้ใช้งานทำงานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น
ผู้ที่สนใจอยากติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MANAWORK สามารถติดต่อได้ตามรายละเอียดดังนี้
เบอร์โทรติดต่อ: (+66) 52 005 402 หรือ (+66) 63 535 1196
อีเมล: info@manawork.comFacebook: facebook.com/manawork.th
