Business

Lean in Management บริหารจัดการง่าย ๆ ด้วยแนวคิดแบบ Lean

ในยุคที่ Unicorn หลายตัว ต้องเร่งทำกำไร บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องหาทางโตอย่างยั่งยืน Lean in management (แนวคิดเกี่ยวกับการปรับองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ทำกำไร) กลายเป็นคำที่หลายคนเริ่มได้ยินบ่อยครั้งขึ้น

เพื่อให้บริษัทที่ขาดทุน มีโอกาสทำกำไร เพื่อให้บริษัทยักษ์ใหญ่ไปต่อได้อย่างคล่องตัว เราจึงต้องเร่งเรียนรู้เกี่ยวกับ Lean in management เพราะเมื่อบริษัทเริ่มปรับตัว เหล่าคนทำงานต้องปรับตัวตามไปด้วย การเรียนรู้หลักการ และทำความเข้าใจ Lean in management เอาไว้ จะทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงขององค์กรได้ดีขึ้นอีกทั้ง Lean in management ยังจะช่วยให้งานของคุณง่ายขึ้น สะดวกขึ้นได้อีกด้วย มาดูกันว่า Lean in management คืออะไร มีหลักการอย่างไร มีสิ่งที่คนทำงานอย่างเราต้องรู้เยอะแค่ไหน อ่านเลย

Lean in Management คืออะไร ทำไมใคร ๆ ก็อยากจะ Lean?

Lean in management หรือการบริหารจัดการแบบลีน คือการปรับการบริหารจัดการองค์กรเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพของงานมากขึ้น ด้วยการลดกระบวนการทำงานที่สูญเปล่า ในขณะเดียวกันก็สร้างความสามารถในการปรับตัวสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวทางระยะยาวในการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร

Lean in management จะให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้

  • การกำหนดคุณค่าที่องค์กรต้องการส่งต่อให้กลุ่มเป้าหมาย
  • ขจัด Waste หรือสิ่งสูญเปล่าในกระบวนการทางธุรกิจ
  • ปรับปรุงกระบวนการทำงาน วัตถุประสงค์ และบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ

ที่สำคัญ Lean in management หรือการบริหารจัดการแบบลีน เน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการปรับปรุง สร้างองค์กรที่ประสบความสำเร็จและมั่นคง ด้วยการระบุปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ

Lean มีที่มาจากระบบการผลิตรถยนต์ของโตโยต้า หรือที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีในชื่อ Toyota Way เป็นเทคนิคที่ใช้เพื่อขจัดสิ่งสูญเปล่า หรือ Waste ในกระบวนการผลิต โดยเน้นไปที่การใช้ต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด และใช้เวลาการผลิตสั้นที่สุด เพื่อส่งต่อสินค้าคุณภาพสูงสุดให้กับลูกค้า

ด้วยความสำเร็จที่เกิดขึ้นจาก Toyota ต่อมามีการพัฒนาแนวคิด Lean และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นมากมาย เช่น การพัฒนาซอฟต์แวร์ (Lean Software Development), สตาร์ทอัพ (Lean Startup), และอื่น ๆ อีกมากมาย

Waste คืออะไร รู้ไว้ Lean ได้ถูกจุด

หัวใจสำคัญของ Lean in management หรือการบริหารจัดการแบบลีนเน้นไปที่การขจัดสิ่งสูญเปล่า (Waste) ในกระบวนการทำงาน แล้วสร้างกระบวนการที่มีประสิทธิภาพและคล่องตัว

โดย เจฟฟรีย์ ไลเคอร์ (Jeffrey Liker) อธิบายถึงสิ่งสูญเปล่า (Waste) เอาไว้ในหนังสือ The Toyota Way ว่าสิ่งสูญเปล่านั้น มี 8 ประการ ดังนี้

1. งานที่ต้องแก้ไข (Defect)

หมายถึง ความผิดปกติใด ๆ ก็ตามของผลิตภัณฑ์ที่พบระหว่างการตรวจสอบ ทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นถูกทิ้งทั้งหมดหรือส่งกลับไปทำใหม่ ข้อบกพร่องเหล่านี้แสดงถึงเวลาที่สูญเสียไป แต่ไม่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีในทางธุรกิจ และการลดเวลาเหล่านั้นลงทำให้สามารถนำเวลาที่มี ไปใช้กับกิจกรรมที่มีมูลค่ามากกว่าได้

2. การผลิตสินค้ามากเกินความต้องการ (Overproduction)

การผลิตมากเกินความจำเป็น ทำให้เสียเวลาในการผลิตสินค้ามากเกินจำเป็น ซึ่งเวลาที่สูญเสียไปนั้น คนทำงานสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย นอกจากนั้นการผลิตมากเกินความจำเป็นมักนำไปสู่การสิ้นเปลืองคลังสินค้าด้วย ตัวอย่างเช่น มีการผลิตชิ้นสินค้าเกินความต้องการ 20 ชิ้น ในกระบวนการนี้ มีคนต้องจัดการสินค้าส่วนเกิน ซึ่งนี่เป็นส่วนงานที่เกินมาจากกระบวนการปกติ ด้วยเหตุนี้จะทำให้เกิดการเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

3. การรอคอย (Waiting)

การรอคอยเป็นสิ่งสูญเปล่าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เวลาว่างและการรอคิว เวลาที่ใช้ไปกับการรอคอยถือว่าเสียเปล่า เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประสิทธิผลใด ๆ ในกระบวนการผลิต อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายส่วนที่ต้องเสียไปกับเวลารอคอยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างบุคลากร และค่าจัดเก็บชิ้นส่วนต่าง ๆ

4. ความคิดสร้างสรรค์ของทีมงานที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ (Non-utilized Talent)

ความสูญเปล่านี้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้ ทักษะ และความสามารถของคนไม่เต็มที่ หรือใช้คนไม่เข้ากับประเภทงาน ความคิดสร้างสรรค์ถือเป็นงานอย่างหนึ่ง หากคิดแต่ไม่ถูกนำมาใช้ ก็ถือเป็นสิ่งสูญเปล่าอย่างหนึ่งในกระบวนการทำงาน ดังนั้นจึงควรเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน เพื่อลดสิ่งสูญเปล่าที่อาจเกิดขึ้น

5. การขนย้ายบ่อย ๆ (Transportation)

การขนส่ง การเคลื่อนย้ายวัสดุและชิ้นส่วนต่าง ๆ บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการวางแผนที่ไม่ดี การเดินทางโดยไม่จำเป็นทำให้เสียเวลาและเสียโอกาส รวมทั้งกำลังคนด้วย

6. สินค้าคงคลังมากเกินไป (Inventory)

สินค้า เมื่อผลิตมาแล้วจำเป็นต้องมีพื้นที่รองรับ หากมีชิ้นส่วนที่ผลิตออกมามากเกินไป จะต้องมีพื้นที่เพื่อรองรับการผลิตส่วนเกินอีก นำไปสู่การสูญเสียที่ไม่จำเป็น ทั้งเกิดต้นทุนจม และทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มในส่วนที่ไม่จำเป็นตั้งแต่แรกอีกด้วย

7. การเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็น (Motion)

การเคลื่อนไหว การกระทำใด ๆ ที่ไม่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า อาจอยู่ในรูปแบบของการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนจากเครื่องจักร หรือจากบุคลากรที่ทำงานบนชิ้นส่วนนั้น การเคลื่อนไหวมากเกินความจำเป็นอาจนำไปสู่ การสูญแรงเปล่าได้

8. ขั้นตอนซ้ำซ้อน (Excess Processing)

ความพยายามใด ๆ ก็ตามที่ไม่เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์หรือการผลิต ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดจากของเสียนี้คือสามารถนำไปสู่การทำงานที่ซ้ำซ้อน งานเสร็จช้า ใช้เวลามาก แต่ไม่เพิ่มประสิทธิภาพใด ๆ ให้กับผลิตภัณฑ์

ตัวอักษรตัวต้นของแต่ละคำในทั้ง 8 ข้อ นำมารวมกันจะได้คำว่า “DOWNTIME” ที่หมายถึง การเสียเวลาเปล่า นั่นเอง

พื้นฐานของการ Lean in Management

หลายคนอาจกำลังคิดว่า การ Lean หรือ Lean in management หมายถึงการทำงานให้เสร็จได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม หรือการทำงานให้ได้เท่าเดิม แต่ใช้กำลังในการทำงานน้อยลง ซึ่งนั่นไม่ใช่ใจความที่แท้จริงของ Lean in management

Lean ไม่ใช่เรื่องของการทำงานให้หนักขึ้น หรือเร็วขึ้น แต่เป็นการค้นหาสิ่งสูญเปล่า (Waste) และเปลี่ยนให้เป็นคุณค่าที่เราต้องการ ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อเรากำจัดสิ่งที่ทำแล้วสูญเปล่าออกหมดแล้ว กระบวนการทำงานก็จะรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น

โดยหลักการพื้นฐานของการ Lean ที่เราต้องรู้ และจดจำไว้ให้ดี มีด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้

หัวใจสำคัญของ Lean in Management

1. กำหนดคุณค่า (Define Value)

การระบุคุณค่าเป็นขั้นตอนแรกของการบริหารแบบ Lean หมายถึงการระบุคุณค่าที่องค์กรต้องการให้ได้ หรือการระบุปัญหาที่องค์กรอยากจะแก้ ในขั้นตอนนี้องค์กรควรที่จะพิจารณา

‘คุณค่าที่สามารถเพิ่มให้กับกระบวนการต่าง ๆ’ (Add Value) และหาวิธีลดกระบวนการที่ไม่เพิ่มคุณค่า เช่น ขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน ไม่จำเป็นต่อการทำงาน เป็นต้น

2. วางแผนการดำเนินงาน (Value Stream Mapping)

หมายถึง ‘ขั้นตอนการทำงาน’ ซึ่งก็รวมถึงขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ และคนที่เข้าร่วมในขั้นตอนพวกนี้ด้วย การวางแผนการดำเนินงานที่ดี จะทำให้ผู้บริหารสามารถเห็นภาพรวมของการทำงานทั้งหมดได้ ซึ่งก็จะทำให้วิธีการพัฒนาและออกแบบระบบใหม่ทำได้ง่ายขึ้น หากขั้นตอนที่ 1 ก็คือการตั้งเป้าหมายการทำงาน ขั้นตอนนี้ก็คือการดูภาพรวมเพื่อดำเนินการภายหลัง

ความสูญเปล่าในที่นี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี ก็คือความสูญเปล่าที่ไม่เพิ่มคุณค่าแต่ก็ยังจำเป็นอยู่ และความสูญเปล่าที่ไม่เพิ่มคุณค่าและก็ไม่จำเป็น แน่นอนว่ากรณีที่ 2 สามารถถูกตัดได้ง่ายกว่า แต่สำหรับกรณีแรกต้องใช้การออกแบบระบบทำงานใหม่เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. สร้างขั้นตอนการทำงานที่ต่อเนื่อง (Create Flow)

ขั้นตอนนี้ก็คือการดูแลและควบคุมให้ระบบสามารถทำงานด้วยตัวเองและสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง หากเป็นกระบวนการผลิตก็หมายถึง การที่โรงงานสามารถผลิตได้ตลอดเวลา ไม่ต้องหยุดพัก หยุดซ่อม แต่สำหรับการทำงานของพนักงานทั่วไป ก็อาจจะหมายถึงการลดกระบวนการทำงานที่ไม่มีประโยชน์

การพัฒนากระบวนการที่ดี ก็คือการสร้างกระบวนการออกมาเป็นขั้นตอนย่อย องค์กรจะได้สามารถพัฒนากระบวนการได้ง่าย และกระจายทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนั้นแล้วยังสามารถทำการอบรมให้ความรู้พนักงานในแต่ละขั้นตอน เพื่อทำให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้นด้วย

4. ใช้ระบบดึง (Pull)

หมายถึงการนำความต้องการของลูกค้ามาเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน เช่น การเลือกผลิตสินค้าที่ลูกค้าต้องการมากกว่า หรือการปรับกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายของระบบ สำหรับธุรกิจการผลิตหรือธุรกิจค้าขาย สินค้าคงคลังก็คือจุดที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุด หลายธุรกิจเลือกที่จะผลิตสินค้าหรือสต๊อกสินค้าไว้ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าคงคลังที่มากเกินไปก็จะกลายเป็นเงินจม ทำให้ธุรกิจสูญเสียโอกาสในการนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนกับการซื้อ หรือการผลิตสินค้าที่ขายได้กำไรหรือขายได้ง่ายมากกว่า

5. ไปสู่ความสมบูรณ์แบบ (Pursue Perfection)

หลังจากที่เราดูกระบวนการตั้งเป้าหมาย วิเคราะห์กระบวนการทำงาน และ พัฒนาวิธีการทำงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการนำทุกอย่างมาใช้ให้มีประสิทธิภาพและทำซ้ำได้เรื่อย ๆ จนกลายเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าสู่ความสมบูรณ์แบบ หัวใจหลักของการบริหารแบบลีน ก็คือ ‘การลดอุปสรรคและสิ่งกีดขวาง’ ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้เร็วขึ้น ซึ่งอุปสรรคอาจจะมาจากเครื่องมือ บุคลากร หรือปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ก็ได้ ความสมบูรณ์แบบส่วนมากจะมาจากความร่วมมือของทรัพยากรมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ผู้ออกแบบระบบ หรือพนักงานระดับแรงงานที่ช่วยในการปฏิบัติการ ในส่วนนี้การอบรม การสร้างวิสัยทัศน์ และการสร้างวินัยถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับขั้นตอนของ Lean เช่นกัน

เทคนิคการ Lean ให้เอาอยู่!

ในการบริหารจัดการแบบลีน หรือ Lean in management เมื่อลงลึกถึงเทคนิคการจัดการ ในแต่ละองค์กร และงานนั้น มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ดังนั้นเราจึงรวมเทคนิคที่ถูกพูดถึง และใช้กันอย่างแพร่หลายในการบริหารจัดการแบบลีน มาไว้เพื่อเป็นข้อมูล ที่ผู้สนใจสามารถนำไปศึกษาต่อในรายละเอียดและนำมาปรับใช้กับองค์กร และกระบวนการที่กำลังรับผิดชอบอยู่ได้

โดยเทคนิค 8 ประการที่เป็นที่รู้จักกันดีในการบริหารจัดการแบบลีนนั้น มีดังนี้

1. ECRS คือ แนวคิดในการลดความสูญเปล่าในการดำเนินงาน หรือที่เรียกว่า Waste ซึ่งเป็น ต้นทุนที่เกิดขึ้นโดยไม่สร้างผลตอบแทนหรือประโยชน์ใด ๆ เพิ่มเติมให้กับองค์กร ด้วยกระบวนการอันได้แก่ การกำจัด (Eliminate) การรวม (Combine) การจัดเรียงใหม่ (Rearrange) และ การทำให้ง่ายขึ้น (Simplify)

เรียนรู้เพิ่มเติมเทคนิคการ Lean ให้องค์กรอยู่รอดในช่วงวิกฤต คลิก

2. Visual Control การบริหารงานด้วยสายตา คือ หลักการของการควบคุม และการบริหารงาน โดยการใช้สื่อที่ตามองเห็นเป็นตัวกลางในการกระตุ้น สั่งการ และดำเนินการปฏิบัติงาน

3. Poka-Yoke คือ ระบบป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่ใส่ใจ หรือ ความสูญเปล่า (Waste) ในกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุและความผิดพลาด โดยใช้หลักการ อาทิ การสัมผัส (Contact Method) การใช้จำนวนคงที่ (Fixed Value) และการใช้ขั้นตอน (Motion Step) ฯลฯ ตัวอย่างเช่น SIM card ในโทรศัพท์มือถือ ฝาถังน้ำมันรถ อ่างล้างหน้า ซองหน้าต่างในใบแจ้งค่าบริการ เป็นต้น

4. 5S หรือหลัก 5ส. เครื่องมือที่จะช่วยให้สถานที่ทำงาน เป็นระเบียบ และน่าทำงาน ประกอบไปด้วย

  • สะสาง (Seiri) คำว่า “Seiri” หมายถึงการแยกสิ่งของที่จำเป็นและไม่จำเป็นออกจากกัน จากนั้นให้ทิ้งของที่ไม่จำเป็นไป
  • สะดวก (Seiton) “Seiton” คือการวางสิ่งของจำเป็นไว้ในตำแหน่งที่หยิบใช้งานได้ง่าย เช่น วางวัสดุและเครื่องมือที่จำเป็นต่อการทำงานในบริเวณที่หยิบได้สะดวก เป็นต้น
  • สะอาด (Seisou) คำว่า “Seisou” หมายถึงการทำความสะอาดอุปกรณ์ และตรวจสอบสถานที่ทำงานให้สะอาดอยู่เสมอ หากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกว่าสามารถทำงานเมื่อไหร่ก็ได้
  • สุขลักษณะ (Seiketsu) “Seiketsu” คือการรักษาสุขลักษณะในที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ
  • สร้างนิสัย (Shitsuke) คำว่า “Shitsuke” หมายถึงการดำเนินการตามหลัก 4ส. ที่กล่าวมาข้างต้นให้เคยชินจนเป็นนิสัย เพื่อสภาพแวดล้อมที่สะอาดในที่ทำงาน

5. Andon คือ ระบบควบคุมด้วยสายตาในสายการผลิต ทำหน้าที่เหมือนสัญญาณเตือนภัย เมื่อเกิดปัญหาในกระบวนการ

6. Cellular Layout การจัดวางให้ขั้นตอนการผลิตขั้นสุดท้ายจะอยู่ใกล้กับขั้นตอนแรกมาก ดังนั้น พนักงานจึงไม่ต้องเดินไกลเพื่อไปเริ่มต้นรอบการผลิตครั้งต่อไป

7. Kaizen คือ การทดลองทำซ้ำ ๆ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)

8. Process Mapping คือ เครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนที่ทำให้องค์กรสามารถมองเห็นลำดับการทำงานในแต่ละขั้นตอนจนถึงผลลัพธ์ขั้นตอนสุดท้าย จะทำให้เราทราบถึงปัจจัย นำเข้า (Input) กระบวนการก่อนหน้าที่เกี่ยวข้อง และผลลัพธ์ (Output) รวมถึงผู้รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถนำมาพิจารณาได้ว่ากระบวนการใด ที่ควรได้รับการปรับปรุงโดยกระบวนการ Process mapping สามารถนำไปใช้ได้ทุก ๆ กระบวนการ ทุกธุรกิจ

Lean แล้วได้อะไร?

Lean in management หรือการบริหารจัดการแบบลีน จะทำให้องค์กรหรือธุรกิจของคุณได้ประโยชน์ในหลายแง่มุม เช่น

  • กระบวนการทางธุรกิจที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น ระบบดึงช่วยให้มั่นใจได้ว่างานจะดำเนินการเมื่อมีความต้องการและจำเป็นเท่านั้น
  • ปรับปรุงการใช้ทรัพยากร ระบบดึงยังช่วยให้มั่นใจได้ว่าองค์กรจะใช้ทรัพยากรเมื่อจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากทำงานตามความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า
  • ปรับปรุงโฟกัส การบริหารจัดการแบบลีนช่วยลดจำนวนกิจกรรมที่สูญเปล่า ดังนั้นจึงช่วยให้พนักงานเพิ่มความสนใจไปที่งานที่สร้างมูลค่าได้
  • เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพ การมุ่งเน้นที่ดีขึ้นทำให้พนักงานมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากจะไม่ให้ความสนใจกับกิจกรรมที่ไม่จำเป็น

ประโยชน์หลักเหล่านี้ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างบริษัทที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในลักษณะที่ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยรวมแล้ว ระบบการบริหารจัดการแบบลีนสร้างระบบการผลิตที่มั่นคง ซึ่งมีโอกาสสูงกว่าในการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กร

ตัวอย่าง Case : Lean in Management ที่ปัง และนำไปใช้ต่อได้

  • Zero Waste Wooden Pallet ของบริษัท ควอลิวูด จำกัด ใช้หลักการ Optimization คิดค้นเทคนิคการตัดไม้ทำพาเลทให้เหลือเศษไม้น้อยที่สุด เพื่อลดความสูญเปล่าจากเศษไม้เหลือทิ้ง โดยได้นำเศษไม้เหลือทิ้งมาบดอัดรีไซเคิลกลับมาเป็นส่วนประกอบพาเลทไม้ได้ด้วย ผู้ประกอบการต้องดูด้วยว่าอะไรที่เป็น waste อะไรที่ควรนำกลับมาใช้ได้ เพื่อช่วยลดความสูญเปล่า ซึ่งก็คือเงินที่รั่วไหลไปทั้งสิ้น เทคนิคดังกล่าว ต้องการเน้นย้ำจุดยืนของควอลิวูดที่ต้องการเป็นองค์กรที่ดีต่อโลกใบนี้ ซึ่งธุรกิจการทำพาเลทไม้ของควอลิวูด เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
  • NIKE บริษัทผู้ผลิตเครื่องแต่งกายกีฬานำระบบลีนมาประยุกต์ในโรงงานเพื่อลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิต แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือการนำกลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้วย HRM มาประยุกต์ใช้ด้วย ผ่านการฝึกอบรมการผลิต สร้างทักษะ การทำงานเป็นหมู่คณะ และสร้างความตระหนักถึงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ทำให้ลดการปฏิบัติที่ไม่ดีต่อแรงงานลงได้มากขึ้น
  • SABINA บริษัทผลิตเสื้อชั้นในหญิงมีการปรับปรุงกระบวนการเพื่อลดความสูญเสียด้วยการพัฒนาพนักงานให้มีทักษะหลายด้าน ลดเวลาในการปรับตั้งสายการผลิตกรณีเปลี่ยนแปลงรุ่นการผลิต และการใช้ Barcode มาช่วยในกระบวนการบรรจุสินค้า ทำให้ไม่เกิดความผิดพลาด มีความรวดเร็วในการทำงานมากขึ้น ตัวชี้วัดที่เห็นผลอย่างชัดเจนคือ Start-up time จากเดิมใช้เวลา 183 นาที ลดลงเหลือ 70 นาที สินค้าเตรียมรอการผลิตจากเดิม 4 วันเหลือ 2 วัน และ ความผิดพลาดในการบรรจุภัณฑ์ลดลงจนแทบไม่มี เกิดโอกาสในการสร้างรายได้ที่สูงขึ้น

สรุป

Lean in management คือการค้นหาสิ่งสูญเปล่า (Waste) และเปลี่ยนให้เป็นคุณค่าที่เราต้องการ ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อเรากำจัดสิ่งที่ทำแล้วสูญเปล่าออกหมดแล้ว กระบวนการทำงานก็จะรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น นั่นคือหัวใจหลักของการ Lean ที่จะทำให้องค์กรของคุณก้าวไปข้างหน้าได้อย่างคล่องตัวและยั่งยืน

ใช้เครื่องมือสื่อสารในองค์กร ให้ธุรกิจของคุณ Lean ขึ้น คลิก

หากมีข้อสงสัย หรือสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางทีมงาน สามารถติดต่อได้ตามรายละเอียดต่อไปนี้


BusinessLEAN
MANAWORK Editor MANAWORK Editor · 6 มิ.ย. 2566 เวลา 3:52 น.

SUGGEST POSTS