Business

10 เคล็ดลับการบริหารงานยุคใหม่ ที่ทุกคนควรรู้

10 เคล็ดลับการบริหารงานยุคใหม่ ที่ทุกคนควรรู้

การบริหารงานเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และยิ่งทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน

การมาถึงของยุคดิจิทัล ทำให้โลกการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่เราเคยจินตนาการ สำหรับคนทำงาน การพูดถึง Skill set และการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มเติม เริ่มกลายเป็นกระแสที่ทุกคนต้องตาม เพื่อให้ทักษะของตัวเองยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่เสมอ

สำหรับองค์กรเอง เมื่อโลกการทำงาน และธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะการบริหาร งานนโยบาย และการจัดการโครงสร้างขององค์กรก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้น เพื่อความอยู่รอดขององค์กร ยิ่งกว่านั้น หากธุรกิจหรือองค์กรใด รู้จักการจัดการที่ดี การบริหารที่ใช่ และรู้จักหาที่ทางและโอกาสให้ตัวเองอยู่เสมอ กระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จะเปลี่ยนจากความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญ​ กลายเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กร ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

สิ่งที่จำเป็นที่สุดกับทั้งองค์กร และคนทำงาน ให้สามารถอยู่กับความเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสจากกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ คือทักษะและวิธีคิดในการบริหารที่ดี ที่ทั้งคนทำงาน และผู้ที่ทำงานด้านการบริหารองค์กรควรมี ซึ่งวันนี้ เรารวบรวมทักษะที่จำเป็น และวิธีคิดที่ควรมี เป็น 10 เคล็ดลับการบริหารงานยุคใหม่ ที่ทุกคนควรรู้ มาให้ จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน

10 เทคนิคการบริหารงานยุคใหม่ ที่คุณไม่ควรพลาด

1. ลูกค้าสำคัญที่สุด

ไม่ว่างานของคุณจะเป็นงานแบบไหนก็ตาม ล้วนต้องมีลูกค้าเป็นเป้าหมายหลักของการสร้างสินค้า หรือบริการเสมอ “ลูกค้า” คือที่มาของโจทย์ ทุกอย่างในการทำงาน ดังนั้น เพื่อที่จะสร้างงานที่ดี เราต้องตีโจทย์ให้แตก

การให้ความสำคัญกับลูกค้า จึงควรแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือการมองลูกค้าในฐานะโจทย์ที่บริษัทจะต้องแก้ เพื่อสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ และการมองลูกค้า ในฐานะผู้ใช้หรือผู้รับบริการ

วิธีคิดการมองลูกค้าในฐานะโจทย์ หมายถึง ลูกค้าในทุก ๆ ตลาด ล้วนมีลักษณะนิสัย ความคิด และความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งสะท้อนผ่านทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้สินค้าและบริการด้วย การสร้างสินค้าและบริการ จึงควรมาจากโจทย์ของลูกค้า ว่าพวกเขาต้องการอะไร โดยเฉพาะเมื่อสินค้าออกมาแล้ว สิ่งที่เราควรฟังต่อ คือเสียงตอบรับ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ ทั้งกับการนำไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงสินค้าที่เรานำเสนอ ตลอดจนการนำไปสร้างสรรค์เป็นแคมเปญทางการตลาด ที่จะช่วยเพิ่มยอดขายได้อีกทาง

สำหรับการมองลูกค้าในฐานะผู้รับบริการ สิ่งที่องค์กรและคนทำงานควรคิดถึงคือการพยายามสร้างสรรค์ นำโจทย์ที่ได้รับ มาตอบสนอง และนำเสนอต่อลูกค้า โดยการมุ่งโฟกัสไปที่ “ประสบการณ์” ที่ลูกค้าควรได้รับ จากสิ่งที่พวกเขาเสียเงินซื้อไป ยิ่งเราสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเท่านั้น

ถึงแม้ประเด็นวิธีคิดที่ควรมีต่อลูกค้าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานเหลือเกินสำหรับการบริหารงาน แต่เราจำเป็นจะต้องย้ำประเด็นนี้เป็นเรื่องแรกอยู่เสมอ เพราะมีลูกค้า ธุรกิจจึงเดินต่อไปได้ หากองค์กรและคนทำงานไม่มีวิธีคิดที่ดีต่อลูกค้า ไม่ให้เกียรติโดยการนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุด และแก้โจทย์ของลูกค้าให้ได้ องค์กรเหล่านั้นมักถูกวันเวลากลืนกินและหายไปในท้ายที่สุดเสมอ

2. สร้างเป้าหมายขององค์กรให้ชัดเจน สร้างแผนงานที่ท้าทาย

เป้าหมายขององค์กรมีความสำคัญมาก ในฐานะหมุดหมายของการบริหารงาน และเป้าหมายของคนทำงาน เป้าหมายของค์กรจะมีความหมายก็ต่อเมื่อคนทำงานทุกคนมองภาพเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ตรงกัน เป็นภาพเดียว และมุ่งไปสู่เป้าหมายพร้อมกัน

ภาระหน้าที่การสร้างเป้าหมายขององค์กรนั้นเป็นงานที่ผู้บริหารจะต้องทำให้ดี ที่สำคัญเมื่อมีเป้าหมายแล้วก็ควรมีแผนระยะยาวในการไปถึงเป้าหมายเหล่านั้น โดยแผนงานจะต้องถูกสร้างไว้อย่างท้าทาย ให้ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นและมีแรงจูงใจในการทำงาน แต่ไม่ใช่ตั้งเป้าสูงโดยไม่มองทรัพยากร และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของตน

แม้ว่าภาระการสร้างเป้าหมายขององค์กรจะเป็นของผู้บริหาร แต่ไม่ใช่ว่าทักษะการสร้างเป้าหมายจะจำเป็นแต่เฉพาะกับผู้บริหาร กลับกัน ทักษะดังกล่าวนี้สำคัญอย่างยิ่งกับคนทำงานในทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะการทำงานในโลกยุคใหม่ ที่มีงานจำนวนมาก แต่ทีมมักมีขนาดเล็ก ทักษะการสร้างเป้าหมายเป็นวัตถุดิบอย่างดีที่ต้องใช้ในการตั้งต้นทำงานทุกงาน และการบริหารจัดการภาระงานประจำวัน หากเราสามารถตั้งเป้าหมายประจำวันของเราได้อย่างชัดเจน ก็จะง่ายขึ้นในการบริหารจัดการเวลาและวางแผนให้สามารถทำงานให้เสร็จได้ทันเวลา

3. Data is the King

ข้อมูลสำคัญที่สุด สำหรับการบริหารงานในยุคใหม่ เพราะสามารถนำไปใช้ในการคาดการณ์ รวมทั้งเป็นเครื่องมือชั้นดีในการทำการตลาดและการขาย เพื่อสร้างยอดให้ถึงเป้าขององค์กร

แต่ที่สำคัญกว่าข้อมูลคือทักษะในการบริหารจัดการข้อมูล เพราะหากมีข้อมูลจำนวนมากแต่นำไปใช้ไม่เป็น ก็จะเป็นอันตรายต่อองค์กรเช่นกัน ยิ่งกว่าการใช้ไม่เป็น คือโดนข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้หลอก ซึ่งจะทำให้แผนงานทั้งหมดคลาดเคลื่อน และจะสร้างปัญหามากมายตามมา

ทักษะในการใช้ข้อมูลนี้ จำเป็นกับทุกหน่วยงาน เพราะ Data Driven ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่กำลังจะกลายเป็นทักษะพื้นฐานในการทำงาน ข้อมูลเปรียบเสมือนสิ่งที่อยู่ในใจ ในพฤติกรรม และชีวิตประจำวันของลูกค้า ที่จะทำให้เรารู้ใจลูกค้าเป็นอย่างดี ยิ่งเรารู้ใจลูกค้าลึก เข้าใจลูกค้าจริง ก็จะทำให้เราสามารถทำงาน “นำเสนอประสบการณ์” ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นจะทำให้องค์กรหรือสินค้าของเราไปนั่งอยู่ในใจของลูกค้าได้ไม่ยาก

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความจำเป็น คือการอัปเดตข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลอยู่เสมอ การใช้ข้อมูลนั้นสำคัญมาก แต่การได้มาของข้อมูลนั้นยากยิ่งกว่า เพราะโดยมาก หลายองค์กรมักเจอกับปัญหาความผิดเพี้ยนของข้อมูล ซึ่งถ้าเข้าไปดูดี ๆ จะรู้ว่ามาจากความผิดพลาดในการเก็บข้อมูล หลายครั้ง เรานำข้อมูลที่มีความผิดเพี้ยนมาใช้ ทำให้เราเข้าใจลูกค้าผิด วางแผนงานมาอย่างดี ก็ไม่สามารถไปถึงเป้าได้ เพราะโดนข้อมูลหลอกนั่นเอง ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจำนวนมากที่จะตามมา เรามีความจำเป็นต้องตรวจสอบ และอัปเดตข้อมูล และหาที่มาที่ไปอยู่เสมอ

4. บริหารคนให้ดี ก็บริหารงานให้ปังได้

สำหรับโลกการทำงานยุคใหม่ สิ่งที่หลาย ๆ องค์กรต้องเจอ คือความแตกต่างทางความคิด และช่วงวัย ธรรมชาติการทำงานที่แตกต่างกันของคนแต่ละช่วงวัย มาจากสภาพแวดล้อมในการเติบโตของคนในแต่ละยุคสมัย นี่จึงเป็นความท้าทายใหม่ที่ทุกองค์กรกำลังเผชิญ

ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งเชี่ยวชาญกระบวนการทำงาน และสั่งสมประสบการณ์การทำงานมาอย่างยาวนาน คนอีกกลุ่มก็มาพร้อมไฟในการทำงาน และความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ ทักษะเด่น ๆ เหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อองค์กรทั้งสิ้น

ผู้บริหาร ควรรู้จักการบริหารบุคคลที่ดี โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนกล้าที่จะเป็นตัวเอง ซึ่งความรู้สึกปลอดภัยในที่ทำงาน จะทำให้ทุกคนกล้านำเสนอความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ซึ่งสามารถต่อยอดเพื่อสร้างประโยชน์ต่อองค์กรได้

เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ที่คนทำงานรู้สึกปลอดภัยนี้ ต้องอาศัยทั้งการทำงานเชิงนโยบาย และการพัฒนาทักษะของบุคลากรควบคู่กันไป รวมถึงกระบวนการอบรมพนักงาน สร้างความเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างดี

นอกจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการทำงานแล้ว ยังมีอีกหลายมิติในงานด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นสำหรับการบริหารงานยุคใหม่ เนื่องจากงานนี้เป็นหัวใจสำคัญสำหรับองค์กร ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการเวลาทำงาน ขอบเขตของงาน และการเลือกคนทำงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเคล็ดลับการบริหารงานสไตล์คนรุ่นใหม่ คลิกเลย

5. สร้างแรงจูงใจในการทำงาน

หลายองค์กรกำลังเผชิญกับภาวะที่คนทำงาน Burnout ทำงานเพียงผ่าน ๆ ให้จบไปวัน ๆ ซึ่งสาเหตุของอาการเหล่านี้คือการที่เหล่าพนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน

แรงจูงใจ คือพลังที่คอยผลักดันให้คนมีพฤติกรรมบางอย่าง แรงจูงใจมีอิทธิพลอย่างมาก ต่อการสร้างผลงานที่มีคุณภาพ ดังนั้นหนึ่งทักษะสำคัญที่หัวหน้างานและคนทำงานบริหารควรมีคือทักษะในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้คนในทีม

สำหรับวิธีการในการสร้างแรงจูงใจนั้น แตกต่างกันไปตามธรรมชาติของทีมแต่ละทีม ซึ่งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าคนทำงานบริหารควรรู้จักคนในทีมของตัวเองเป็นอย่างดี และควรหาให้เจอว่าเป้าหมายการทำงานของคนแต่ละคนที่ตัวเองกำลังดูแลอยู่คืออะไร บางคนทำงานเพราะเงิน บางคนทำงานเพราะต้องการเจอกับความท้าทายใหม่ ๆ บางคนทำงานเพราะอยากอยากเจอคนใหม่ ๆ เหตุผลร้อยพัน แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญจริง ๆ ที่จะช่วยให้คนทำงานบริหารเข้าใจ และนำเหตุผลเหล่านี้ไปต่อยอด สร้างเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแรงจูงใจได้ คือความละเอียดอ่อน และความช่างสังเกต

เรากำลังบอกว่า อีกงานหนึ่งนอกจากงานประจำวันของหัวหน้าแล้ว คนเป็นหัวหน้างานมีหน้าที่ในการสังเกต และทำความเข้าใจคนในทีมของตน แต่มีคำเตือนว่า ต้องขีดเส้นกั้นให้ดี หัวหน้างานไม่ควรลุกล้ำเข้าไปในชีวิตส่วนตัวของคนในทีม หากเข้าไปในฐานะเพื่อน สามารถทำได้นอกเวลางาน แต่ในเวลางาน หัวหน้าต้องไม่ลุกล้ำชีวิตส่วนตัวของคนในทีม เพราะการไม่มีเส้นกั้นจะสร้างปัญหาในอนาคตให้ตามมาไม่รู้จบ

6. อย่าให้เทคโนโลยีมาแย่งงาน แต่จงใช้เทคโนโลยีมาช่วยงาน

ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมากในการทำงาน เราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาในการทำงานได้ นอกจากนั้นเทคโนโลยีหลายอย่างสามารถทำงานได้ล้ำหน้า จนแย่งงานมนุษย์ไปทำแล้ว หลายคนจึงกลัวกันว่าวันหนึ่งตำแหน่งงานของตนจะโดนเทคโนโลยีแย่งไปทำ แต่จริง ๆ แล้ว เทคโนโลยีไม่ได้มีขึ้นเพื่อแย่งงานมนุษย์ แต่เข้ามาช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ดีขึ้น และมากขึ้นต่างหาก

การนำเทคโนโลยีมาช่วยงานควรเป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานและช่วยให้มนุษย์ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยงานมนุษย์ได้มากมาย อย่างเช่น

  1. การทำงานที่มีรูปแบบซ้ำ ๆ สามารถใช้ AI เข้ามาช่วยได้ อย่าง การตรวจสอบข้อมูล การจัดเก็บข้อมูล การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร การส่งอีเมล์ตอบกลับ ฯลฯ
  2. การใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างชุดข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจต่าง ๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด เพื่อใช้ในการวางแผนการตลาด การวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน เพื่อช่วยในการตัดสินใจการลงทุน หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยในการเลือกสินค้า ซึ่งการใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลนี้จะช่วยลดเวลาในการวิเคราะห์และเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ  
  3. การใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมต่อและสื่อสาร เช่น การใช้โปรแกรมประชุมออนไลน์เพื่อให้ทีมงานสามารถประชุมได้โดยไม่ต้องเดินทาง การใช้โปรแกรมแชทหรือโทรศัพท์เพื่อสื่อสารระหว่างทีมงาน ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะช่วยประหยัดเวลาและทำให้การสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย เป็นต้น
ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการติดต่อสื่อสารในที่ทำงาน ให้งานของคุณง่ายขึ้นอีกหนึ่งระดับ คลิก

7. การสื่อสารภายใน และวัฒธรรมองค์กรสำคัญมาก

การสื่อสารภายในและวัฒธรรมในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อประสิทธิภาพและความสำเร็จขององค์กรทุกประเภท การสื่อสารที่มีปัญหาหรือไม่ดีอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด ทำให้เป้าหมายคลาดเคลื่อน และทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ การจัดการการสื่อสารภายในและสร้างวัฒธรรมในองค์กรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การสื่อสารภายใน

การสื่อสารภายใน เป็นกระบวนการที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และข้อมูลระหว่างคนทำงานภายในองค์กร การสื่อสารภายในที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจและมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ และทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การสื่อสารภายในมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการสร้างองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสื่อสารที่ดี รวมถึงความชัดเจนในการสื่อสาร การใช้ภาษาที่เหมาะสม การใช้ช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม และการสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการวางแผนเป็นอย่างดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

โดยคนทำงานบริหารจะต้องออกแบบนโยบาย และจัดการสร้างกระบวนการอบรม และจัดสรรทรัพยากรรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในองค์กร

วัฒนธรรมองค์กร

วัฒนธรรมที่ดีในองค์กรสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีและส่งเสริมการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัฒนธรรมที่ดีอาจเป็นการปฏิบัติตามมารยาท การปฏิบัติตามหลักการและค่านิยมขององค์กร ตลอดจนการตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง

การสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กรเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ และน่าทำงาน

วิธีการสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร คือ การสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบ และการสร้างวินัยและความเข้าใจในองค์กร  การจัดการการสื่อสารภายใน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่การสร้างนโยบาย และการปฏิบัติ โดยวัฒนธรรมองค์กรนั้น พัฒนามาจากวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร รวมถึงความเชื่อที่แต่ละองค์กรมี

ปัจจุบันวัฒนธรรมองค์กรที่ทำงานกันในแนวดิ่ง มีการบังคับบัญชากันอย่างแข็งขัน สร้างสภาวะที่คนทำงานรู้สึกอึดอัดและไม่อยากร่วมงานด้วยเป็นอย่างมาก เพื่อให้องค์กรปรับตัวเข้ากับยุคสมัย องค์กรควรปรับเปลี่ยนให้มีการสื่อสารกันในแนวราบมากขึ้น บรรยากาศแบบนี้จะสามารถต่อยอดไปสร้างวัฒนธรรมองค์กรดี ๆ ด้านอื่นได้อีกมากมาย

นอกจากงานด้านนโยบายแล้ว คนทำงานควรมีทัศนคติที่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งที่มีคุณค่าต่อองค์กร เพื่อให้วัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นได้

8. ยืดหยุ่น เปิดกว้าง พร้อมปรับปรุงตามโลกที่เปลี่ยนแปลง

ทัศนคติแบบ ยืดหยุ่น เปิดกว้าง มีความสำคัญมาก เนื่องจากกระแสความเปลี่ยนแปลงนั้น นำพาทั้งสิ่งที่เราชอบ และไม่ชอบ เข้ามาพร้อม ๆ กันเสมอ เรามีสิทธิ์เลือกหยิบกระแสที่ชอบขึ้นมาใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนอื่นที่เลือกทำตามสิ่งที่เราไม่ชอบเช่นกัน

ดังนั้นในที่ทำงาน สิ่งที่เราควรโฟกัส คือผลประโยชน์สูงสุดที่องค์กรจะได้รับจากสิ่งที่เราทำ ประเด็นนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่คนทำงานควรมี เมื่อเรารู้สึกว่าเรากำลังทำเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร การฉวยใช้กระแสที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จะถูกเลือกผ่าน Criteria ที่ว่า สิ่งใดมีประโยชน์กับองค์กร ก็หยิบสิ่งนั้นมาใช้

เมื่อเป็นอย่างนี้ คนทำงานจึงควรมีทัศนคติที่เปิดกว้าง ๆ พร้อม ๆ กับวิจารณญาณและความรู้สึกว่าต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อองค์กรไปพร้อม ๆ กัน วิธีคิดแบบนี้จะทำให้คนทำงานตามโลกได้ทัน ใช้ทุกความเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์ได้ และที่สำคัญ สามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดให้บริษัทได้ด้วย

9. การวัดผลและควบคุมคุณภาพ

การวัดผลและควบคุมคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารองค์กร เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริหารสามารถวิเคราะห์และปรับปรุงกระบวนการภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวัดผลและควบคุมคุณภาพช่วยให้ผู้บริหารสามารถระบุว่าองค์กรของตนมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานหรือไม่ ผ่านตัวชี้วัดหลายประเภท เช่น ตัวชี้วัดสินค้า บริการ ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และความพึงพอใจของลูกค้า การวัดผลเหล่านี้ช่วยให้องค์กรได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานขององค์กร  

อย่างไรก็ตาม การวัดผลและควบคุมคุณภาพไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่าย ต้องการการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีคุณภาพและเทคนิคที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถนำมาปรับปรุงกระบวนการภายในองค์กรได้อย่างเหมาะสม จุดนี้อาศัยทักษะและประสบการณ์ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ ซึ่งจะต้องได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี

การควบคุมคุณภาพ เป็นไปเพื่อทำให้ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับนั้นคงที่ และเป็นไปตามมาตรฐานขององค์กร หากไม่ตั้งมาตรฐานและจัดการควบคุมคุณภาพก็ยากที่สินค้าหรือบริการจะอยู่ในตลาดได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการควบคุมคุณภาพนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการวัดผลที่องค์กรต้องทำ ซึ่งใช้ประสบการณ์สูงมาก

นี่อาจจะเป็นทักษะเดียวในบทความชุดนี้ที่พูดถึงความจำเป็นของประสบการณ์ในการทำงานบริหาร แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไม่มีประสบการณ์จะไม่สามารถทำงานการวัดผลและควบคุมคุณภาพได้ กลับกันหากให้คนรุ่นใหม่ได้ลองทำงานนี้ อาจจะเห็นมิติที่แตกต่างกันมากขึ้นในงานวัดผลและควบคุมคุณภาพ

10. ทักษะการจัดการภาพรวม และคาดการณ์ล่วงหน้า

เป็นทักษะสำคัญที่น้อยคนจะพูดถึง แต่ทักษะการจัดการภาพรวมและการคาดการณ์ล่วงหน้า เป็นทักษะสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถบริหารงานได้อย่างดี และโดดเด่น

การจัดการภาพรวม และคาดการณ์ล่วงหน้า คือการมองเห็นและเข้าใจงานทั้งหมดที่ต้องทำ ตั้งแต่จุดแรกถึงจุดสุดท้าย ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ การมองเห็นแบบนี้มาจากการเข้าใจงานที่ตัวเองทำเป็นอย่างดี และเคยเจอกับสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย พัฒนาต่อยอดจนสามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้จากข้อมูลที่เห็นและสภาพแวดล้อมของงานที่เจอ

ทักษะในการคาดเดานี้ช่วยให้คนทำงานสามารถเตรียมงานและแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว และควบคุมสถานการณ์ได้ดี ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้คุณเป็นคนที่ทำงานได้อย่างโดดเด่นและน่าจับตามอง

การได้มาซึ่งทักษะดังกล่าวนี้ คุณต้องเอาตัวเองไปเจอกับสถานการณ์ที่หลากหลาย และทดลองแก้ปัญหาด้วยรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้คุณเห็นภาพสิ่งที่ตามมาได้อย่างชัดเจน และเก็บไว้เป็นข้อมูลไว้ใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ครั้งต่อไป

สรุป

10 เคล็ดลับนี้ จะช่วยให้คุณมีทักษะและทัศนคติ ที่จะทำให้คุณทำงานในโลกยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี ปรับตัวกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายที่มีโอกาสเจอได้ ยิ่งคุณเพิ่มทักษะเหล่านี้ให้ตัวเองมากขึ้นเท่าไหร่ ก็สามารถเติบโตและเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในโลกการทำงานได้มากเท่านั้น

MANAWORK.COM ระบบที่จะช่วยให้การทำงานของคุณกับทีมกลายเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม พร้อมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

Facebook: Manawork

E-mail: support@manawork.com

โทร. (+66) 52 005 402 หรือ (+66) 63 535 1193



BusinessProductivity
MANAWORK Editor MANAWORK Editor · 19 พ.ค. 2566 เวลา 7:36 น.

SUGGEST POSTS