ในฐานะมนุษย์เงินเดือน คุณมั่นใจมากแค่ไหนว่า
1. จะไม่ถูกไล่ออกจากงาน
2. จะไม่ถูกลดเงินเดือน
3. บริษัทที่คุณทำงานอยู่จะรอด
ถ้าคุณมีความมั่นใจ หยุดอ่านตั้งแต่บรรทัดนี้ได้เลย แต่ถ้าไม่แน่ใจ เตรียมความพร้อมก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ในคำถามดีกว่าไหม วันนี้ผมจึงเขียน 9 Survival Plan แผนเอาตัวรอดฉบับมนุษย์เงินเดือนขึ้นมา

9 Survival Plan ฉบับมนุษย์เงินเดือน
1. มีสัญชาติญาณในการเอาตัวรอด:
สถานการณ์แบบนี้ เลิกมองโลกในแง่ดี คิดถึงเหตุการณ์ที่เลวร้ายสุดๆ มองโลกในแง่ร้ายกันได้แล้วครับ เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจ พร้อมรับ8ความตกต่ำที่สุดในชีวิต ขอให้เปลี่ยน Mindset ที่อยู่ใน Comfort Zone ไม่เดือดร้อนอะไร เป็นแมลงสาบที่จะอยู่รอดในวิกฤต
2. ประเมินหนี้สินและอัตราดอกเบี้ย:
List จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เรียงลำดับจากอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไปยังต่ำสุด เช่น หนี้นอกระบบ บัตรเงินสด บัตรเครดิต รถ เงินผ่อนบ้าน และสหกรณ์ ดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่เคยหยุดเดิน มีแต่เพิ่มขึ้นทุกวัน หนี้สินเป็นภาระผูกพัน ที่ต้องจ่ายคืนไม่ช้าก็เร็ว
3. เจรจากับเจ้าหนี้แต่ละแห่ง:
ไม่ต้องอายที่จะเอ่ยปากขอลดอัตราดอกเบี้ยและเลื่อนการส่งเงินต้นไปอีก 6 เดือนข้างหน้า ในสถานการณ์แบบนี้ เจ้าหนี้กลัวลูกหนี้มากกว่า ต้องคุยให้เสร็จก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย เพราะจะเจรจายากขึ้น
มีมาตรการรัฐออกมาช่วยเหลือผู้เป็นหนี้ทุกประเภท ทั้งหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเงินสดหมุนเวียน สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบ้าน ดูภาพประกอบเงื่อนไขของแต่ละธนาคารได้
4. ประมาณการค่าใช้จ่าย 6 เดือนข้างหน้า:
แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายเป็น 2 กลุ่มคือ ลดค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่า ค่าเดินทาง ค่าเทอม เช่น แทนที่จะทานอาหารวันละหลายร้อย มาเป็นทำกับข้าวทานเอง
ตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่ไม่จำเป็นทั้งหมด เลิกซื้อของไม่จำเป็นมาเป็นขยะเก็บไว้ในบ้าน ต้องประหยัดตั้งแต่วันนี้เพื่อยืดระยะเวลาการขาดสภาพคล่องให้นานที่สุด ถ้ายังจับจ่ายใช้สอย Shopping เหมือนเดิม เงินสดในมือก็จะขาดเร็วขึ้นกว่าเดิม ทำให้ชีวิตอยู่ในความเสี่ยง และจะลำบากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
5. สำรองเงินสดให้เพียงพอ:
ต้องมีเงินสดในบัญชีที่สามารถใช้ได้ทันทีอย่างน้อยสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในอีก 6 เดือนข้างหน้า ยิ่งมีเงินสดสำรองมาก ชีวิตก็ยิ่งปลอดภัยมาก ยิ่งมีเงินสดน้อย ความเสี่ยงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
ถ้าไม่เงินสดสำรอง ลองเริ่มทยอยขายสินทรัพย์บางส่วน ที่ไม่จำเป็น เก็บไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขายตอนนี้ยังได้ราคาดี แต่ถ้ามาขายพร้อมกัน ตอนเศรษฐกิจตกต่ำ ราคาจะดิ่งเหวทีเดียว
6. ตรวจสอบแหล่งเงินสดสำรองฉุกเฉิน:
เมื่อเศรษฐกิจขาลง การหาเงินสดยากมาก ดังนั้นจึงต้องสำรองเงินไว้ให้มากพอในวันนี้ ประเมินว่าจะสามารถวงกู้เงินเพิ่มเติมจากที่ไหนได้บ้าง เช่น เงินประกันชีวิต สหกรณ์ บัตรเครดิต บัตรเงินสด ว่าจะกู้ได้มากน้อยเพียงใด และ
ประเมินจำนวนเงินประกันสังคม เงินสำรองเลี้ยงชีพ และเงินชดเชย ที่จะได้รับเท่าไหร่ ถ้าถูกให้ออกจากงานจะได้รับเงินส่วนนี้เท่าไหร่ เพื่อดูว่าเมื่อยามฉุกเฉินจะมีเงินมาหมุนได้เท่าไหร่
7. หางานพิเศษเพิ่มเติมจากงานประจำ:
การลดค่าใช้จ่ายอย่างเดียวไม่พอในยุคนี้ ต้องพยายามหาเงินเพิ่ม มาเสริมเงินเดือนประจำที่มีอยู่ มีเงินมากขึ้น ย่อมอุ่นใจกว่าไม่มีเลย
อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา ใช้ทักษะฝีมือแรงงานแลกกับรายได้ที่เพิ่มเข้า ใช้สมองให้มากขึ้น ไปหารายได้เข้ามา ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย มีเงินย่อมดีกว่าไม่มี
8. พัฒนาทักษะอนาคต:
หลังจากผ่านพ้นวิกฤตนี้ วิถีการทำงานย่อมเปลี่ยนแปลงไป ทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นและไม่เคยให้ความสำคัญในอดีตจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ดังนั้นใช้เวลาว่างที่อยู่บ้าน ให้เกิดประโยชน์ เรียนรู้ทักษะที่เรายังขาดอยู่และจำเป็นหลังพ้นวิกฤตนี้ให้เกิดความชำนาญ เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การออกแบบ และความสามารถด้านดิจิตอลต่างๆ
9. ทำให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง:
สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันตัวเอง อย่าให้เจ็บป่วย ไข้ขึ้นช่วงนี้โดยเด็ดขาด งั้นต้องเสี่ยงไปโรงพยาบาลจะลำบากกันไปหมด นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารดี ๆ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ฝึกลมหายใจ นั่งสมาธิ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่ต้องคิดถึงอดีต ให้มุ่งไปสู่อนาคตใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ถึงแม้ว่ามนุษย์เงินเดือน จะเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่สัญญาณเศรษฐกิจตกต่ำ เริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ ใครเตรียมพร้อมตัวเองก่อนย่อมได้เปรียบ ไม่ต่างกันการซื้อประกัน ถ้าเตรียมไว้หมดทั้ง 9 ข้อแล้ว เรายังไม่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจรอบนี้ ถือว่าเป็นกำไรของชีวิต ไม่ต้องไปห่วงว่าเสียดายไม่ตาย เลยอดได้เงินประกัน
Follow Page AvocadoXbyPhusit และ Share บทความนี้ให้กับเพื่อนๆ มนุษย์เงินด้วยนะครับ
