
พลิกโฉมองค์กรให้เป็น Digital Transformation
การทำงานในโลกที่เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก ลองนึกดูว่าในตอนนี้ถ้าคุณไม่มีโทรศัพท์จะเป็นอย่างไร การสื่อสาร การจ่ายเงิน การทำงาน การหาข้อมูล ล้วนใช้เทคโนโลยีทั้งสิ้น หากขาดเทคโนโลยีไปการใช้ชีวิตก็จะเหมือนขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป บางคนอาจจะคิดว่า “ต้องขนาดนั้นเลยเหรอ” ขอตอบว่า “ใช่ค่ะ” เทคโนโลยีหมุนรอบตัวเรา และเราไม่ใช่แค่หมุนรอบตัวเอง ต้องปรับตัวให้เท่าทันความเป็นดิจิทัลในยุคใหม่ ทำตัวล้าหลังก็ไม่เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นสักที
ทำไมต้องมีกลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ Digital Transformation

ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโตที่มั่นคงและการแข่งขันในโลกธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงองค์กรเข้าสู่การเป็น Digital Transformation นั้นเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี และวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและธุรกิจได้มากขึ้น
ด้วยความซับซ้อนของกระบวนการทำ Digital Transformation การมีกลยุทธ์ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงองค์กรจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนและดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้อง วันนี้เรามีขั้นตอนและแนวทางที่จะช่วยให้องค์กรของคุณพลิกโฉมไปสู่การเป็น Digital Transformation ที่ประสบความสำเร็จ
7 ขั้นตอนสำหรับการพลิกโฉมธุรกิจสู่การเป็น Digital Transformation
1. ประเมินสภาพแวดล้อมและสร้างความเข้าใจให้พนักงานทุกคน

อันดับแรกเลยคือการตรวจสอบเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเติมเต็มการทำงานได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการเข้าสู่การเป็น Digital Transformation จากนั้นวิเคราะห์ความต้องการขององค์กร เพื่อมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้
หลังจากที่ได้ประเมินและตรวจสอบเทคโนโลยีแล้วควรสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานทุกคนในเรื่องของ Digital Transformation เพื่อให้พนักงานเข้าใจความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำงาน และมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา Digital Transformation ขององค์กร การสร้างความเข้าใจนี้สามารถทำได้โดยการใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การจัดทำคู่มือการใช้เทคโนโลยีให้กับพนักงาน หรือการจัดประชุมอบรมเพื่อแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ และวิธีการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ในการทำงาน
อ่านเพิ่มเติม 7 กลยุทธ์ ให้พนักงานทุกคนปรับตัวเท่าทันเทคโนโลยี คลิก
2. กำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์

การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการพาองค์กรไปสู่ Digital Transformation เป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องทำให้ดี เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจที่มาและทิศทางของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ให้สามารถพุ่งเป้าไปสู่จุดหมายเดียวกันได้
การตั้งเป้าหมายที่เน้นไปที่เรื่องของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การปรับปรุงการบริการลูกค้า การอัปเดตระบบ IT และพัฒนาระบบการเงิน รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการปรับปรุงธุรกิจ
นอกจากนี้ การกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ควรเป็นไปในทิศทางของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กร รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ
อ่านเพิ่มเติม ตั้งเป้าอย่างชาญฉลาด วางแผนอย่างแยบยลด้วย Smart Goal คลิก
3. สร้างแผนการดำเนินงาน

การสร้างแผนการดำเนินงานให้องค์กรเข้าสู่การเป็น Digital Transformation เป็นขั้นตอนสำคัญในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำทางการเดินทางขององค์กรตั้งแต่เริ่มต้นไปสู่จุดหมายปลายทาง ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีแนวทางและกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน มีการวางแผนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเข้าใจความต้องการทางธุรกิจและจุดอ่อนในระบบปัจจุบันขององค์กร นอกจากนี้ การกำหนดกรอบเวลาที่สามารถบรรลุได้พร้อมกับผลลัพธ์ที่วัดผลได้
4. สร้างเสริมประสบการณ์ให้เกิดขึ้นในองค์กร

การสร้างเสริมประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในองค์กรสามารถทำได้โดยการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
โปรแกรมอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านเทคโนโลยี โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ของการอบรมและเน้นการฝึกฝนทักษะที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การพัฒนาองค์กร
ให้โอกาสให้พนักงานเข้าร่วมโครงการหรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น โปรแกรมทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือโครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น
พื้นที่สำหรับการทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถทดลองใช้งาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบต่อการทำงานประจำวัน
ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การทำงานของพนักงาน เช่น การใช้ระบบ VR/AR เพื่อฝึกฝนทักษะหรือการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยในการดำเนินงาน
การให้พนักงานได้เข้าถึงเทคโนโลยีที่หลากหลายจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ และคลายความกังวลที่เกิดขึ้นในการใช้เทคโนโลยี
5. ใช้ระบบอัตโนมัติที่เป็นไปได้

การใช้ระบบอัตโนมัติเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้องค์กรเข้าสู่ Digital Transformation ได้เร็วขึ้น เพราะระบบอัตโนมัติช่วยให้งานจำนวนมากที่มีความซ้ำซ้อนให้เป็นระบบมากขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น และมีความแม่นยำสูงขึ้น โดยสามารถใช้ระบบอัตโนมัติในหลาย ๆ ด้าน เช่น
การประมวลผลข้อมูล : สามารถใช้ระบบ Machine Learning และ Data Analytics เพื่อทำนายแนวโน้มและตัดสินใจในการวิเคราะห์ข้อมูลได้เร็วขึ้นและมีความแม่นยำสูงขึ้น
การบริหารจัดการกระบวนการธุรกิจ : สามารถใช้ Robotic Process Automation (RPA) เพื่อช่วยทำงานที่เป็นกระบวนการธุรกิจอัตโนมัติ เช่น การสั่งซื้อ การจัดซื้อ การบัญชี เป็นต้น
การให้บริการลูกค้า : สามารถใช้ Chatbot เพื่อช่วยลูกค้าในการตอบคำถามและช่วยแนะนำสินค้าได้
การจัดการทรัพยากรบุคคล : สามารถใช้ HR Information System (HRIS) เพื่อจัดการข้อมูลบุคคลในองค์กร เช่น การจัดการการลา การเงินเดือน และฝึกอบรม
การใช้ระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมสามารถช่วยให้องค์กรเข้าสู่ Digital Transformation ได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น โดยจะต้องพิจารณาตรงกับความต้องการขององค์กร
6. ลงทุนกับเทคโนโลยีที่เหมาะสม

แม้ว่าทีมจะเป็นหัวใจสำคัญในการทำ Digital Transformation แต่เทคโนโลยีก็เป็นตัวเชื่อมโยงผู้คนให้องค์กรทำ Digital Transformation ประสบความสำเร็จ การลงทุนในเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ตอบโจทย์กับการทำงานของพนักงานจะทำให้การทำ Digital Transformation เสียเวลาและทรัพยากรที่มีค่าในองค์กร
การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เช่น ความพร้อมในการรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ ความสามารถในการผสมผสานกับระบบเดิม และความเหมาะสมกับเป้าหมายขององค์กร นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาต้นทุนและความคุ้มค่าของเทคโนโลยีนั้น ๆ เพื่อให้การลงทุนในเทคโนโลยีนั้น ๆ มีค่าในระยะยาว
เพื่อให้การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการขององค์กรอย่างละเอียด รวมถึงการพิจารณาตัวเลือกที่มีอยู่ในตลาดเทคโนโลยี โดยอาจต้องมีการสร้างสัมมนาหรือเข้าร่วมการทดลองใช้งาน เพื่อศึกษาเทคโนโลยีนั้นก่อนตัดสินใจ
7. วิเคราะห์ผลลัพธ์ให้ก้าวหน้าเสมอ

การทำ Digital Transformation เป็นกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงกระบวนการธุรกิจให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น แต่การทำ Digital Transformation ไม่ใช่เพียงแค่การใช้เทคโนโลยีเท่านั้น ยังต้องมีการวิเคราะห์และวัดผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบว่าการทำ Digital Transformation ที่ผ่านมานั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
การวิเคราะห์ผลลัพธ์ในการใช้เทคโนโลยีที่ผ่านมาสามารถทำได้โดยการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี และวิเคราะห์ผลการใช้งานโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น Key Performance Indicator (KPI), Return on Investment (ROI), Cost-Benefit Analysis เป็นต้น เพื่อวัดผลการใช้เทคโนโลยีว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ และหากผลการใช้งานไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ จะต้องวิเคราะห์หาสาเหตุและวิธีการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ การวิเคราะห์และวัดผลการใช้เทคโนโลยียังช่วยให้ผู้บริหารมีการวางแผนการลงทุนในเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถประเมินค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการลงทุนในเทคโนโลยีได้อย่างชัดเจน และยังช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในเทคโนโลยีที่อาจไม่เหมาะสมกับธุรกิจและลูกค้าอีกด้วย
สรุป
การพลิกโฉมองค์กรให้เป็น Digital Transformation จะช่วยให้องค์กรมีความสามารถในการรับมือกับเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับโลกธุรกิจและความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัล ทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันในสภาวะการแข่งขันทางเทคโนโลยีของตลาดได้มากขึ้น ดังนั้น การพลิกโฉมองค์กรให้เป็น Digital Transformation เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรในยุคดิจิทัล ที่ต้องการเติบโตและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
