
Production Planning คืออะไร? ทำไมจึงสำคัญกับองค์กร

Production Planning เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการวางแผนการผลิต หากองค์กรมีการวางแผนการผลิตที่ดี ก็จะช่วยตอบสนองสินค้าให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ รวมถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ก็จะถูกส่งถึงมือลูกค้าตามเวลาที่กำหนด ซึ่ง Production Planning ก็สามารถทำได้หลากหลายแบบ ในบทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับ Production Planning กันให้มากขึ้นว่า คืออะไร มีประเภทอะไรบ้าง แล้วทำไมถึงสำคัญกับองค์กร
รู้จัก Production Planning คืออะไร
Production Planning คือ การวางแผนการผลิต โดยนำปัจจัยด้านการผลิตมาจัดระเบียบให้การผลิตบรรลุเป้าได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยคำนึงถึงระยะเวลาการผลิตและส่งมอบให้กับลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่ แรงงาน (Man), วัตถุดิบ (Material), เครื่องจักร (Machine) และกระบวนการผลิต (Method) หรือที่ใครหลายคนรู้จักกันในชื่อย่อ 4M นั่นเอง
เป้าหมายของ Production Planning
- เพื่อปรับเปลี่ยนการคาดการณ์การขายให้อยู่ในรูปแบบของแผนงานผลิต
- เพื่อลดต้นทุนการผลิต
- ช่วยให้ผลผลิตมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่มากนัก
- เพื่อให้มีวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ผลิตมีอย่างเพียงพอ ไม่ขาด
- ช่วยให้การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่น มีการประสานงานกันได้ดีขึ้น
- ลดเวลาในด้านการจัดการ
ประเภทของ Production Planning มีอะไรบ้าง

ประเภทของ Production Planning ประกอบไปด้วย 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1. ระบบ Pond Draining
ระบบ Pond Draining หรือระบบการไหลของน้ำในอ่างเป็นระบบการผลิตแบบมีการสำรองวัตถุดิบไว้ในคงคลัง และมีการผลิตสินค้าไว้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ซึ่ง Production Planning ประเภทนี้จะทำการผลิตจนได้ปริมาณสูงสุดที่กำหนดเอาไว้ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของตลาดหรือลูกค้า
มีข้อจำกัดคือเป็นระบบที่มีปริมาณของในคงคลังสูง ถ้าเกิดว่าความต้องการของตลาดหรือลูกค้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้มีโอกาสขาดสต๊อกของสูง เนื่องจากวัตถุดิบในคงคลังไม่สัมพันธ์กับความต้องการนั่นเอง
2. ระบบ MRP
Production Planning ประเภท ระบบการวางแผนความต้องการวัตถุดิบ (Material Requirement Planning System: MRP) เป็นระบบที่แต่ละองค์กร หรือโรงงานสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง มีข้อดีคือสามารถวางแผนการผลิต ควบคุมสินค้าในคงคลัง และจัดตารางเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดปัญหาระหว่างผลิตอีกด้วย
3. ระบบ JIT
ระบบ Just In Time หรือ JIT คือ ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี มีหลักการการผลิตคือ เมื่อมีการขายเกิดขึ้นจึงจะเริ่มทำการผลิตสินค้าและค่อยจัดส่งออก การผลิตใด ๆ จะขึ้นอยู่กับความต้องการนั้น ๆ หรือกล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อมีลูกค้าความต้องการซื้อก็จะค่อยผลิตและทำการจัดส่งมอบให้ลูกค้าทันที จะไม่เก็บสินค้าเอาไว้ เพื่อลดจำนวนสินค้าในคงคลังให้น้อยที่สุด
Production Planning สำคัญอย่างไรกับองค์กร

Production Planning ถือเป็นหัวใจหลักของงานผลิตเลยทีเดียว เพราะมีหน้าที่สำคัญในการประสานงานกับทางฝ่ายตลาด เพื่อทราบความต้องการของลูกค้าและตลาดโดยรวม หากเรามีการวางแผนการผลิตไม่ดีเท่าที่ควร หรือผลิตมาไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า สินค้าก็เหลือมากเกินไปจนขาดทุนหรือไม่ก็สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือสินค้าอาจไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร เป็นต้น นอกจากนี้ Production Planning ยังมีความสำคัญกับองค์กรดังนี้
- ช่วยมองให้เห็นภาพรวมของงาน รวมถึงสามารถเชื่อมโยงโครงการ ลูกค้า พนักงาน ผู้ขาย ได้ตามความต้องการ
- สามารถทราบต้นทุนการผลิตที่รวดเร็ว และสามารถปรับต้นทุนให้สอดคล้องกับงบประมาณก่อนเริ่มผลิตได้ รวมถึงกำหนดจำนวนสินค้าที่ต้องการผลิตได้
วิธีการนำ Production Planning มาปรับใช้กับองค์กร
การวางแผนการผลิต หรือ Production Planning เป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยผลักดันให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จ โดยมีวิธีการปรับใช้ดังนี้
1. ประเมินความต้องการในตลาด
อันดับแรกเราจะต้องทำการสำรวจ เก็บข้อมูล รวมถึงรู้และเข้าใจในกลุ่มเป้าหมายก่อน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าควรผลิตเท่าใดเพื่อให้ทันในช่วงเวลาที่กำหนด
2. แบ่งงบประมาณการผลิต
หลังจากที่ทราบความต้องการของลูกค้าและตลาดแล้ว เราจึงมาคำนวณงบประมาณในมือว่า สามารถแบ่งสัดส่วนการผลิตได้อย่างไรบ้าง ตัวอย่างเช่น งบประมาณวัตถุดิบ งบประมาณอุปกรณ์ งบประมาณบุคลากร เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแต่ละองค์กรหรือโรงงาน โดยในขั้นตอนนี้เราจะได้ทราบว่ามีข้อจำกัดในการผลิตตรงไหน หรือจะทำอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
3. วางแผนการผลิต
เมื่อถึงขั้นตอนการวางแผนการผลิต เราสามารถแบ่งย่อยได้อีก 4 หัวข้อดังนี้
- วางแผนกระบวนการ (Process Planning) เริ่มต้นจากการมองภาพรวมการผลิตก่อน เพื่อวางแผนลำดับความสำคัญของกระบวนการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้ย่นระยะเวลาการผลิตได้ดี
- วางแผนทางด้านแรงงาน (Man Planning) องค์กรจำเป็นจะต้องกำหนดเวลาการทำงานและการพักผ่อนที่ชัดเจนให้กับพนักงาน รวมถึงควรมอบหมายงานที่ตรงตามความสามารถและเหมาะสม ไม่เกินกำลังของพนักงาน
- วางแผนด้านเครื่องจักร (Machine Planning) เพื่อให้เครื่องจักรยังคงประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างดี อาจมีการตรวจเช็กสภาพเครื่องจักรอยู่เสมอ
- วางแผนด้านการจัดเก็บ (Store Planning) การวางแผนการจัดเก็บ ผู้ที่เป็นผู้รับผิดชอบ Production Planning ควรมองหาพื้นที่ที่เพียงพอต่อการใช้งาน รวมถึงเพียงพอต่อการจัดเก็บ
4. ติดตาม ประเมินผล และนำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในขั้นตอนสุดท้ายนี้ จะเป็นการติดตาม ประเมินผล เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเราจะประเมินคุณภาพของการผลิตโดยรวม ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตจนถึงงานเสร็จสิ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อที่ต้องปรับปรุงและบรรลุเป้าหมายในอนาคต
สรุป
Production Planning เป็นการวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด รวมถึงต้องวางรูปแบบการทำงานให้เป็นไปอย่างมีระบบ เพื่อให้สินค้าออกมาดีที่สุด ถือได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับองค์กรสายผลิต
สำหรับใครที่ต้องการผู้ช่วยสำหรับวางแผนการผลิต Production Planning ในรูปแบบออนไลน์ MANAWORK เป็นระบบที่จะช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร้อุปสรรค สามารถวางแผนการทำงาน ตั้งเป้าหมาย ติดตามการทำงานได้ในระบบเดียว ช่วยให้คุณสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางทีมงาน สามารถติดต่อได้ตามรายละเอียดต่อไปนี้
- Facebook: Manawork
- E-mail: support@manawork.com
- โทร. (+66) 52 005 402 หรือ (+66) 63 535 1193
